Get Adobe Flash player

  • ยุง (Mosquitoes) จากรายงานการสำรวจพบว่า ทั่วโลกมียุงอยู่มากมายหลายพันชนิด ประมาณการว่ามีมากถึง 3,500 ชนิด (species) ในประเทศไทยมีประมาณ 400 ชนิด ยุงบางชนิดแค่ก่อความรำคาญโดยการดูดกินเลือดคนและสัตว์เลี้ยงเป็นอาหารเท่านั้น แต่ก็มียุงอีกหลายชนิดซึ่งนอกจากจะดูดกินเลือดเป็นอาหารแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงต่างๆ มาสู่คนและสัตว์อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
  • ยุงรำคาญ (Urban Mosquito) ลำตัวบอบบาง มีขนาดเล็ก ไม่มีลวดลายตามตัว มีมากที่สุดในจำนวนยุงทั้งหมด วางไข่ในแหล่งน้ำทุกชนิด ตัวเต็มวัยออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่ออกหากินตอนหัวค่ำ ไข่ของยุงจะวางในลักษณะเดี่ยวๆ เป็นแพลอยอยู่ที่ผิวน้ำ ไข่จะฟักในเวลา 24 ชั่วโมง ออกเป็นตัวลูกน้ำและเจริญเติบโตอยู่ในน้ำ จากนั้นก็จะลอกคราบเพื่อเข้าดักแด้หรือที่เรียกว่าตัวโม่ง และจากตัวโม่งจะออกเป็นตัวยุง ระยะเวลาตั้งแต่ไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 9-10 วัน
  • ยุงลาย (Yellow fever Mosquito) ลำตัวมีลายสีขาวสลับดำ รวมทั้งที่ขาด้วย ชอบวางไข่ในน้ำนิ่งและใส ในที่ๆ เป็นแหล่งน้ำเล็กๆ ตัวเต็มวัยชอบหากินตอนกลางวัน เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกที่สำคัญของประเทศไทย ชอบวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำสะอาด เช่น ถังซีเมนต์ จานรองขาตู้กันมด แจกัน เมื่อออกเป็นลูกน้ำจะอาศัยอยู่ในภาชนะดังกล่าวโดยจะตัวเต็มวัยมีนิสัยหากินในบ้านเรือน การที่จะควบคุมยุงให้ได้ผลดีนั้นจะต้องเรียนรู้ยุงให้ถ่องแท้ดีเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีววิทยาของยุงซึ่งรวมทั้งวงจรชีวิต อุปนิสัยของยุง ถิ่นที่อยู่ และแหล่งเพาะพันธุ์ 

อ่านเพิ่มเติม: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับยุง

แมลงวัน

ถูกจัดอยู่ในอันดับ ORDER DIPTERA ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่อันดับ 4 ของแมลงเป็นแมลงขนาดเล็ก มีปีก 1 คู่ มีลำตัวอ่อนนุ่ม และเป็นแมลงที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เราสามารถพบแมลงวันได้ทุกแห่งในโลก หลายชนิดพบว่าสามารถดูดเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และหลายชนิดสามารถกัดกินหรือทำลายพืชที่ปลูกทำให้ผลผลิตเสียหาย หลายชนิดสวยงาม บางชนิดมีลวดลายแปลกตา บางชนิดเป็นตัวห้ำ หรือผสมเกสร ดังนั้น แมลงวันจึงมีความสำคัญทางเกษตรและทางการแพทย์ แมลงวัน มีหลายชนิด เช่น แมลงวันบ้าน แมลงวันหลังลาย แมลงวันหัวเขียว แมลงวันทอง แมลงวันสี แมลงวันกระโดด แมลงวันผึ้ง แมลงวันฉก แมลงวันลาย แมลงวันดอกไม้ แมลงวันหัวหนา แมลงวันก้นขน แมลงวันเขาวัว แมลงวันปากดำ แมลงวันตอมตา ฯลฯ

แมลงวันบ้าน

  • ลักษณะสำคัญ : ตัวเต็มวัยสีเทา มีแถบสีดำ 4 เส้น พาดอยู่ส่วนอกด้านบน หรือ กลางลำตัว ลำตัวยาวตัวประมาณ 1/8-1/4 นิ้ว ตัวหนอนสีขาวครีม หัวแหลมท้ายป้าน ไม่มีขา ไข่มีขนาดเรียวยาว 1 มม. สีขาว
  • อาหาร : กินอาหารได้หลายชนิด รวมทั้งของเสีย

ตัวเมียวางไข่ได้ครั้งละ 100-150 ฟอง และสามารถวางไข่ได้สูงถึง 600 ฟองโดยชอบวางไข่ตามกองขยะที่มีความชื้นสูง หรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไข่ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 6 ชั่วโมง ตัวหนอนลอกคราบประมาณ 3 ครั้ง จากนั้นจะเข้าดักแด้ และฟักเป็นตัวเต็มวัย ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์

อ่านเพิ่มเติม: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแมลงวัน

หนู เป็นสัตว์ฟันแทะประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม มีลักษณะเด่นชัดคือมีฟันคู่หน้าทั้งบนและล่าง 2 คู่ ที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษและคมมีลักษณะโค้งยื่น เพื่อใช้สำหรับกัดหรือแทะสิ่งต่างๆ เพื่อให้ฟันหน้าซึ่งสามารถเจริญยาวได้ตลอดชีวิตของมัน มีขนาดสั้นพอเหมาะและคมอยู่เสมอ
หนู มีความสำคัญ ทั้งทางด้านสาธารณสุข และการเกษตรทั้งนี้ เพราะหนูเป็นสัตว์แทะ ที่มีคุณสมบัติ ทางด้านชีววิทยาในการแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมสภาพต่างๆ ภายในบ้านได้เป็นอย่างดี ลักษณะนิสัยของ หนู ชอบการกัดทำลายวัสดุ สิ่งของเครื่องใช้และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นประจำ เช่น ตู้ โต๊ะ เพดานบ้าน สายไฟ สายโทรศัพท์ สายคอมพิวเตอร์ ท่อน้ำ ผ้าม่าน สบู่ เครื่องประดับต่างๆ ตามถนน คันคูน้ำ คันนา หนู ก็จะขุดรูอาศัย เป็นผลให้เกิดการชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้ ทำให้ต้องเสียเงินซ่อมแซมอยู่เสมอ
ด้านการเกษตรนั้นส่วนใหญ่ก็เพื่อดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์ต่อไป หากบ้านใดมีหนูย่อมมีความเสียหายจากการทำลายของ หนู ติดตามมา นอกจากผลเสียหายที่เกิดจากการกัดทำลายของ หนู ทำให้เสียหายด้านการเกษตรและเศรษฐกิจแล้ว ประกอบกับพฤติกรรมในการดำรงชีวิตของมันทำให้มันเป็นตัวการสำคัญที่นำโรคต่างๆ มาสู่คนได้ ดังนั้น จะศึกษาเรื่อง หนู ที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในทางสาธารณสุขและการเกษตรเท่านั้น
หนูที่มีความสำคัญทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะหนูที่อาศัยทำรังและหากินอยู่ในบ้านหรือบริเวณรอบๆ บ้าน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ มี 4 ชนิด ซึ่งน่าจะศึกษาเรื่องราวของแต่ละชนิด เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมและป้องกันต่อไปนี้

อ่านเพิ่มเติม: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนู

แมลงสาบ เป็นแมลงดึกบรรพ์ที่อาศัยอยู่บนโลกนี้มานานประมาณ 250 ล้านปี โดยสันนิษฐานจากหลักฐานซึ่งเป็น ฟอสซิล (fossil) ที่ถูกค้นพบ ตามการจำแนกแมลงทางวิทยาศาสตร์แมลงสาบถูกจัดกลุ่มไว้ในชั้น (class) Insicta, อันดับ(order) Orthoptera แต่บางครั้งพบว่าในตำราบางเล่มแมลงสาบอาจจะถูกจัดอันดับ Dictyoptera หรือ Blattodea ก็ได้ ซึ่งการจำแนกที่ แตกต่างกันเหล่านี้เกิดขึ้น จากการใช้ลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกัน มาใช้ในการจำแนก แมลงสาบถูกจำแนกย่อยเป็นวงศ์ (family) ต่างๆกันได้ 5 วงศ์ คือ Blattidae, Blatteidec, Blaberidae, Cryptocercidae และ Polyphagidae จนกระทั่งปัจจุบันนี้ แมลงสาบ ที่พบทั่วโลกมีทั้งสิ้นประมาณ 4,000 ชนิด

ชิววิทยาของแมลงสาบ

แมลงสาบ มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น แต่ปัจจุบันพบว่ามีการแพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจจะติดไปกับสินค้าจำพวกหีบห่อหรือลังไม้ที่ขนส่งไปทางเรือหรือรถบรรทุก อย่างไรก็ตามยังคงพบ แมลงสาบ ในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนมากกว่าพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น โดยทั่วไป แมลงสาบ ชอบอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน ท่อระบายน้ำ ร้านขายของชำ ร้านอาหาร ห้องครัวในโรงพยาบาลหรือโรงแรม โกดังเก็บสินค้าทางการเกษตรหรือกระดาษ เป็นต้น แมลงสาบ ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มืด อบอุ่น และมีความชื้นสูง ลักษณะโดยทั่วไปของ แมลงสาบ มีลำตัวแบนรีเป็นรูปไข่ ความยาวของลำตัวตั้งแต่ 1 ซม. ถึง 8 ซม. มีสีต่างๆกันตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีดำ บางชนิดอาจมีสีอื่นที่ค่อนข้างแปลกตา เช่น สีส้ม หรือสีเขียวก็ได้ โดยทั่วไป แมลงสาบตัวเมียจะอ้วนกว่าตัวผู้ หัวของแมลงสาบมีลักษณะคล้ายผลชมพู่ คือ ด้านบนป้านส่วนด้านล่างเรียวลง และสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ส่วนหัวจะติดกับส่วนอกโดยมีส่วนคอเล็กๆเชื่อมอยู่ แมลงสาบ อาจมีปีกหรือไม่มีปีกก็ได้ โดยปกติพวกที่มีปีกเจริญดีจะมีปีก 2 คู่ ปีกคู่แรกจะแข็งแรงกว่าปีกคู่หลัง ทั้งนี้ปีกคู่หลังซึ่งมีลักษณะเป็นเยื่อบางๆจะซ้อนทับอยู่ใต้ปีกคู่แรก ปีกของ แมลงสาบ จะปกคลุมลำตัวด้านบนไว้เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แมลงสาบ บางชนิดอาจมีปีกที่กุดสั้น ถึงแม้ว่า แมลงสาบ จะสามารถบินได้ก็ตามแต่โดยทั่วไปแล้วมักเดินหรือวิ่งมากกว่า ทั้งนี้จะบินในกรณีที่ถูกรบกวนเท่านั้น แมลงสาบ มีขา 3 คู่ ขาคู่หน้าเล็กกว่าขาคู่หลัง ขาของ แมลงสาบ นั้นมีลักษณะเป็นขาสำหรับวิ่งจึงทำให้ แมลงสาบ วิ่งได้เร็วมาก แมลงสาบ มีหนวดยาวเรียวแบบเส้นด้าย 1 คู่ ซึ่งมีขนเล็กๆจำนวนมากอยู่รอบๆหนวด ปากมีลักษณะเป็นแบบดักเคี้ยว แมลงสาบ สามารถกินอาหารได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ แต่ส่วนมากชอบกินเศษอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาล ซากสัตว์หรือแมลงที่ตายแล้ว น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ กระดาษ หรือแม้แต่ผ้า เป็นต้น แมลงสาบ มีนิสัยชอบกินอาหารและถ่ายอุจจาระออกมาตลอดทางที่เดินผ่าน ชอบออกหากินในเวลากลางคืนและมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่ก็มี แมลงสาบ บางชนิดที่ออกหากินในเวลากลางวัน

อ่านเพิ่มเติม: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแมลงสาบ

การหาอาหารของมด ถ้าดูที่ส่วนปากของมดแล้วพบว่า จะมีส่วนที่ใช้กัดและกินรวมไปถึงส่วนที่ใช้ดูดด้วย ดังนั้นมดส่วนมากสามารถดูดน้ำเลี้ยงพืชหรือของเหลวจากแมลงที่ขับถ่ายออกมาได้ รวมไปถึงการกัดและกินพืชที่ตายแล้วหรือชิ้นส่วนของสัตว์ มดงานส่วนใหญ่เป็นพวกตัวห้ำหรือกินซากสัตว์ (scavengers) อาหารของมดนั้นค่อนข้างกว้าง ประกอบด้วย สัตว์ที่ขาเป็นปล้องและเมล็ดพืช มดตัวเต็มวัยกินอาหารที่เป็นของเหลว โดยสะสมของเหลวจากเหยื่อที่จับได้หรือขณะที่ดูแลพวกเพลี้ยต่างๆ และแมลงกลุ่มอื่นๆ เหยื่อที่เป็นของแข็งนั้นก็จะนำกลับไปที่รังโดยมดงาน ตามปกติจะเป็นอาหารของตัวอ่อนมด ตัวเต็มวัยที่อยู่ในรังได้แก่ ราชินี ได้รับอาหารจำนวนมากหรือทั้งหมดจากมดงานที่หาอาหารได้โดยตรง ระหว่างที่หาอาหาร มดงานจะสะสมของเหลวซึ่งจะเก็บสะสมไว้ที่ส่วนบนของระบบย่อยอาหาร เมื่อกลับไปยังรัง มดงานเหล่านี้จะสำรองของเหลวที่สะสมไว้และผ่านเข้าไปยังมดงานตัวอื่นๆ ขณะที่มดงานส่วนมากจะกินอาหารแตกต่างกันออกไป มีมดบางชนิดเจาะจงอาหารในวงแคบๆ

มดจำนวนมากชอบกินพวกแมลงหางดีดเป็นอย่างมาก ส่วนมดบางชนิดชอบกินไข่ของสัตว์ที่มีขาเป็นปล้อง มดบางชนิดจะเข้าไปยังรังมดชนิดอื่นอย่างรวดเร็ว เพื่อจับตัวอ่อนมดและดักแด้ มดจำนวนมากที่มีความจำเพาะกับอาหาร ที่กินนั้นจะมีการดัดแปลงลักษณะทางสัณฐาน ตัวอย่างเช่น กรามที่พบในพวกกลุ่มตัวห้ำชั้นสูงจะเรียวยาวมาก และมีฟันขนดใหญ่ โดยเฉพาะตอนปลาย เมล็ดของพืชจำนวนมาก มีอาหารที่จำเพาะเรียกว่า elaiosomes ซึ่งจะดึงดูดมดให้เข้ามา มดจะสะสมเมล็ดโดยกินส่วนนี้เป็นอาหาร บางครั้งกินเมล็ดด้วย เมล็ดจำนวนมากยังคงงอกได้หลังจากส่วนที่มีอาหารถูกกินไป เมล็ดจะถูกวางไว้ภายในรังหรือบนกองตรงกลางที่มดสร้างขึ้นมา เป็นบริเวณที่เมล็ดจะมีการงอกในเวลาต่อมา มีความเชื่อว่าเมล็ดที่สะสมโดยมด มีโอกาสสูงมากในการงอกและรอดชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับ เมล็ดที่ไม่ได้มีการสะสมจากมด เนื่องจากเมล็ดถูกทำลายน้อยมาก โดยพวกกินเมล็ด และเนื่องจากเมล็ดถูกเก็บไว้ในร่มใกล้กับกองดินที่มีธาตุอาหาร

อ่านเพิ่มเติม: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับมด

ชนิด และประเภทของปลวก

การจำแนก ปลวก อย่างกว้างๆ แบ่งออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ ปลวกที่อาศัยอยู่ในดิน และ ปลวกที่ไม่อาศัยอยู่ในดิน ปลวกอาศัยอยู่ในดิน จำแนกได้เป็น 3 พวก คือ

  • ปลวก ใต้ดิน (Subterranean termites) พวกนี้จะอาศัยอยู่ในดินเกือบตลอดอายุของมันแม้ว่าจะออกจากผิวดินไปแล้ว ก็ยังมีการติดต่อกับพื้นดินอยู่ โดยการทำอุโมงค์ทางเดินด้วยดินไปสู่แหล่งอาหารต่าง ๆ ที่อยู่เหนือดิน นอกจากนี้อุโมงค์ทางเดินยังเป็นเครื่องป้องกันอันตรายจากศัตรู เช่น มด
  • ปลวก ที่อยู่ตามจอมปลวก (Mound-building termites)เป็นปลวกที่สร้างรังหรืออาณาจักรขนาดใหญ่ อยู่บนพื้นดินโดยใช้เม็ดดินเล็ก ๆ สร้างขึ้นเป็นเนินสูงใหญ่ที่เรียกว่า จอมปลวก จะพบเห็นทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเซีย อาฟริกา และออสเตรเลีย
  • ปลวก ที่อยู่ตามรังขนาดเล็ก (Carton-nest-building termites) รังของ ปลวก ชนิดนี้ เกิดจากมูลของ ปลวก ผสมกับเศษไม้เล็กๆ และสร้างเป็นรังที่มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป อาจจะอยู่ในดิน บนพื้นดินหรือเหนือพื้นดิน เช่น ตามต้นไม้ เสาไฟ หรืออาคารบ้านเรือน
  • ปลวก ไม้แห้ง (Dry-wood termites) เป็นพวกที่มีอาณาจักรหรือรังเล็กกว่า ปลวก ใต้ดิน อาศัยอยู่ในเนื้อไม้ และจะไม่ลงไปในดิน ปลวก ชนิดนี้ต้องการความชื้นในไม้แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเป็นพวกที่ทำความเสียหายร้ายแรงต่ออาคารบ้านเรือนและเครื่องเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ
  • ปลวก ไม้ชื้น (Damp-wood termites) อาศัยอยู่ในเนื้อไม้ที่มีความชื้นสูง เช่น เปลือกไม้ ไม้ซุง หรือไม้ที่ผุแล้ว ห้องที่มีความชื้นและความเย็น นับว่า เป็นสถานที่เหมาะสม สำหรับ ปลวก ประเภทนี้อาศัยอยู่ ตามปกติแล้ว เป็น ปลวก ที่ไม่มีอันตรายต่ออาคารบ้านเรือนมากนัก 

อ่านเพิ่มเติม: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปลวก